16 Jun
16Jun

          บายศรี   ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ น. เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ    ทําด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลําดับ เป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น หรือ ๙ ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวย  วางอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอดบายศรี มีหลายอย่าง เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่. (ข. บาย = ข้าว + ศรี = สิริ หมายความว่า ข้าวอันเป็นสิริหรือข้าวขวัญ).

          บายศรีปากชาม เป็นบายศรีขนาดเล็ก เครื่องบูชาเบื้องตนสำหรับการบวงสรวงบูชาเทพพยดา ในสมัยโบราณ จะใช้ ๑ สำรับ ปัจจุบันเพื่อความสวยงามนิยมจัดบูชาเป็นคู่ จะประกอบไปด้วย ๑. กรวยใบตอง บรรจุด้วยข้าวปากหม้อ (ข้าวที่หุงและยังไม่มีใครตักออกไป) จำนวน ๑กรวย ๒. ตัวบายศรี จะมีนิ้วบายศรีห่มทับด้วยใบตองผ้านุ่งเป็นชั้น มี 3,5,7,9 ชั้น ตามแต่ฐานะและวาระโอกาสของผู้ใช้ จำนวน 3 ชิ้น ๓. แมงดา คือ ใบตองตัดจำลองเป็นรูปคล้ายแมงดาทะเล จำนวน ๓ ชิ้น ๔. ไข่ต้ม ๑ฟอง สำหรับตั้งบนยอดกรวยใบตอง ๕. กล้วยน้ำว้าผ่าซีกแบ่ง ๓ ส่วน และแตงกวาผ่าซีกแบ่ง ๓ ส่วน พนมประกบกล้วยน้ำว้าและแตงกวาเข้าด้วยกันเป็นคู่ จำนวน ๓ คู่ จัดวางไว้หลังตัวแมงดา  หวามหมายของส่วนประกอบแต่ละส่วนของบายศรีปากชาม จะเป็นความเชื่อตามหลักจักรวาลคติ กล่าวคือ บายศรีปากชาม ๑ ใบ เปรียบถึงจักรวาล  มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางหรือศูนย์กลางของจักรวาล    มีไข่ต้มเป็นยอดหมายถึงพรหมโลก มีตัวบายศรีเปรียบเสมือนเขาสัตบริภัณฑ์ทั้ง ๗ เทือกเขา ที่ตั้งอยู่    กลางป่าหิมพานต์และมีตัวแมงดา เปรียบเสมือน  ปลาอานนท์ ตกแต่งด้วยดอกไม้นานาพรรณ เปรียบได้ดั่งต้นไม้ดอกไม้เบ่งบานในป่าหิมพานต์ ข้าวหุงสุก   กล้วยน้ำว้า แตงกวา คือความอุดมสมบูรณ์


                                                                                                    โดย สิรภัทร  เรืองวิริยะพงศ์ 

                                                                                                          9 กุมภาพันธ์ 2566

Comments
* The email will not be published on the website.
I BUILT MY SITE FOR FREE USING